02/10/2015

ผู้เสียหายจากการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สามารถดำเนินคดีเองได้

เมื่อเราตกเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่น ถูกหมิ่นประมาททางเฟสบุค เว็บไซต์ถูกแฮค ถูกฉ้อโกงผ่านเว็บไซต์ขายสินค้า สิ่งแรกที่เรามักจะนึกถึงคือการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่คงไม่รวดเร็วทันใจเรา เราจะดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษทัณฑ์ด้วยตัวเราเองได้หรือไม่

Photo by Penn State Law


การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีทั้งโทษปรับและจำคุก อันเป็นโทษทางอาญาและเป็นคดีอาญา การดำเนินคดีอาญาจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดอำนาจของผู้เสียหายไว้ ดังนี้

          มาตรา 2(4)  “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

          มาตรา 2(14) “โจทก์” หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน

          มาตรา 3  บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
          (1) ร้องทุกข์
          (2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
          (3) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
          (4) ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
          (5) ยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว

          มาตรา 4  ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิฟ้องคดีได้เองโดยมิต้องได้รับอนุญาตของสามีก่อน
          ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5 (2) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา

          มาตรา 5  บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
          (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
          (2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
          (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น

          มาตรา 6  ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้น หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้
          เมื่อได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ซึ่งยินยอมตามที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทนให้ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน
          ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี

จากบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่า นอกจากเราในฐานะผู้เสียหายจะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดต่อเราได้แล้ว เรายังเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาลเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การจะเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้นั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่า ในความผิดฐานนั้นกฏหมายต้องมุ่งประสงค์คุ้มครองเรา  เราต้องได้รับความเสียหายจากการกระทำผิด เราไม่ได้มีส่วนร่วมหรือยินยอมในการกระทำผิด และเราต้องใช้สิทธิโดยสุจริตในการฟ้องคดีต่อศาล

ถึงแม้เราจะเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองได้ แต่พยานหลักฐานในการดำเนินคดีเป็นสิ่งสำคัญ ประชาชนยังขาดความรู้และเครื่องมือที่จะใช้รวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งต่างจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความรู้และเครื่องมือเพรียบพร้อม เราจึงยังต้องพึ่งพาอาศัยเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดี

ทั้งนี้ หากท่านมีข้อสงสัยหรือข้อขัดข้องเกี่ยวกับการดำเนินคดี ทนายไอที ยินดีให้ความช่วยเหลือ

No comments:

Post a Comment