16/09/2015

เจ้าหน้าที่ตรวจค้นข้อมูลในโทรศัพท์มือถือต้องได้รับอนุญาตจากศาล

โทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ไม่เพียงแต่จะสามารถใช้งานโทรเข้าโทรออกได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เล่นไลน์ เล่นเฟสบุ๊ค ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ รับส่งอีเมล์ อ่านอีบุ๊ค โอนย้ายไฟล์ หรือแม้กระทั่งเขียนโปรแกรมให้ทำงานตามที่เราต้องการ โทรศัพท์มือถือจึงมีการนำข้อมูลเข้า มีการประมวลผลและมีการแสดงผลของข้อมูล เป็นโทรศัพท์ที่เรียกกันว่า สมาร์ทโฟน (Smartphone) ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง และถือเป็นระบบคอมพิวเตอร์ตามนิยามของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และข้อมูลที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือก็ถือเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย



โทรศัพท์มือถือของบุคคลใดย่อมเป็นทรัพย์สินของบุคคลนั้น ซึ่งบุคคลใดๆ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีอำนาจหน้าที่และเครื่องมือต่างๆ ในการดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เช่นกัน แต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การยึดหรือตรวจค้นโทรศัพท์มือถือ จะกระทำไม่ได้หากไม่มีกฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำเกินขอบอำนาจหรือทำไปโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจจนเกิดการกระทบกระทั่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในเรื่องของการตรวจค้นข้อมูลในโทรศัพท์มือถือนั้น มีตัวบทกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 18 ประกอบมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ และสั่งให้ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกเข้ารหัสไว้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องร้องขอและได้รับอนุญาตจากศาลก่อนที่จะกระทำการดังกล่าว

ดังนั้น หากพนักงานเจ้าหน้าที่มาขอตรวจค้นข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของเราโดยไม่มีคำสั่งอนุญาตจากศาลและไม่ได้รับความยินยอมจากเราแล้ว เราก็ไม่จำต้องส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้น ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ยังขืนเอาโทรศัพท์มือถือของเราไปตรวจค้น ก็เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิผิดกฎหมาย และจะใช้ข้อมูลในโทรศัพท์มือถือในการอ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลไม่ได้ด้วย เพราะถือเป็นการได้พยานหลักฐานมาโดยมิชอบ (มาตรา 25)

แต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับอนุญาตจากศาลให้สามารถตรวจค้นข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของเราได้แล้ว เราไม่ทำตามที่เจ้าหน้าที่สั่ง ก็เป็นความผิด มีโทษปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท และปรับเป็นรายวันอีกวันละ 1,500 บาทจนกว่าเราจะปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว (มาตรา 27)

อย่างไรก็ตาม หากเราทำผิดกฎหมายและถูกจับกุมตกเป็นผู้ต้องหาในคดีใดๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ก็สามารถค้นตัว และยึดสิ่งของต่างๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งรวมถึงยึดโทรศัพท์มือถือของเราไปทำการตรวจค้นได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะกฎหมายได้ให้อำนาจไว้ตามมาตรา 85 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั่นเอง



No comments:

Post a Comment