05/09/2017

เลิกจ้างเพราะนำหุ่นยนต์มาใช้แทนลูกจ้าง ต้องทำอย่างไร

ช่วงนี้เรามักจะได้ยินข่าวการนำหุ่นยนต์ หรือ เทคโนโลยี AI มาใช้ในการทำงานมากขึ้น  เช่น อุตสาหกรรมโรงงาน  หรือธุรกิจประกันชีวิต  มนุษย์ผู้ใช้แรงงานจึงอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป บริษัทที่เป็นนายจ้างก็จำต้องลดค่าใช้จ่ายโดยลดจำนวนพนักงานหรือลูกจ้างในแผนกนั้นลง หากไม่มีแผนกใดให้ลูกจ้างทำงานแล้วก็ต้องเลิกจ้างกันไป แต่การที่ลูกจ้างต้องถูกให้ออกจากงานหรือเลิกจ้างเพราะบริษัทนำเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรเหล่านี้มาใช้ กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องปฏิบัติอย่างไร ? กฎหมายได้รับรองคุ้มครองลูกจ้างที่ถูกผลกระทบจากกรณีนี้อย่างไร ? และลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องอะไรจากนายจ้างได้บ้าง ?

Image by pixabay.com


ปกติ  การบอกเลิกจ้างในสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ถ้าลูกจ้างไม่ได้ทำผิด นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงวันเลิกจ้างตามกำหนดที่บอกกล่าวแล้วให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีก็ได้ และยังต้องจ่ายค่าชดเชยด้วย (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 มาตรา 118 และมาตรา 119)

แต่กรณี นายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยี AI  เป็นเหตุให้ต้องเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวแล้วให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้ไม่ได้  นายจ้างต้องแจ้งวันที่จะเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง และต้องแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้างด้วย  (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 121)

และการจ่ายค่าชดเชยกรณีการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี เป็นเหตุให้ต้องเลิกจ้างลูกจ้างนี้ หากลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกิน 6 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 15 วันสุดท้ายต่อการทำงานครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่ค่าชดเชยนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 360 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 122)

หากนายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน นอกจากนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย ซึ่งการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกรณีนี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย  (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 121)

การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด นายจ้างอาจถูกดำเนินคดีอาญาและถูกลงโทษได้ โดยหากนายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และหากไม่จ่ายค่าชดเชย และหรือ ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 144 และมาตรา 146)

สรุป กรณีนายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี

นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดอย่างไร ?

1. แจ้งวันที่จะเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
2. แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
3. ถ้าลูกจ้างไม่ได้ทำผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 แต่หากลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกิน 6 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบหนึ่งปี แต่รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน

ลูกจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ?

1. สิทธิเรียกค่าชดเชยตามมาตรา 118  และหากลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกิน 6 ปีขึ้นไป มีสิทธิเรียกค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ
2. สิทธิเรียกค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน
3. ดอกเบี้ยของค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี และหากนายจ้างจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดจ่าย ลูกจ้างมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน(พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9)
4. สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ หรือฟ้องร้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องข้างต้น





No comments:

Post a Comment