21/05/2017

คัดลอกข้อมูลจากสื่อบันทึกข้อมูลไปเป็นลักทรัพย์หรือไม่?

สื่อบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สมัยที่ผู้เขียนคุ้นเคยก็เริ่มตั้งแต่ Floppy Disk, CD, DVD, Flash Drive, SD Card, External Hard Disk ซึ่งมีขนาดและความจุก็แตกต่างกันไปและก็มีราคาแตกต่างกันไปด้วย ยิ่งความจุมากก็จะราคาสูง แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดคงไม่ใช่ราคาของมัน แต่เป็นข้อมูล (Data) ที่ถูกบรรจุไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลเหล่านี้ต่างหาก ข้อมูลบางอย่างหากถูกลบถูกทำลายไปแล้วก็ไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้ดังเดิม ข้อมูลบางอย่างเป็นความลับของเรา เป็นความลับของลูกค้า หรือเป็นความลับทางธุรกิจ การที่มีบุคคลใดคัดลอกข้อมูลจากสื่อบันทึกข้อมูลของเราไปจะเป็นการลักทรัพย์ลักขโมยหรือไม่??

image by: wikimedia.org


"ข้อมูล" คืออะไร

คำว่า "ข้อมูล" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ให้ความหมายไว้ว่า "ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ"

แต่ผู้เขียนยังไม่พบว่ามีกฎหมายอาญาฉบับใดนิยามคำว่า "ข้อมูล" ไว้โดยเฉพาะ จะมีก็เพียงแต่คำว่า "ข้อมูลคอมพิวเตอร์" ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ให้ความหมายไว้ว่า "ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย"

ส่วนคำว่า "ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ก็ให้ความหมายไว้ว่า "ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือโทรสาร"

"ลักทรัพย์" คืออะไร

ลักทรัพย์ เป็นความผิดกฎหมายฐานหนึ่ง ตามมาตรา 334 แห่งประมวลกฎหมายอาญากำหนดว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

สิ่งที่จะถูกเอาไปแล้วเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องเป็นทรัพย์นะ ซึ่งมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้คำว่า "ทรัพย์" หมายความว่า "วัตถุมีรูปร่าง"

ดังนั้น สิ่งที่จะถูกเอาไปแล้วเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องเป็นวัตถุมีรูปร่าง

การคัดลอกข้อมูลจากสื่อบันทึกข้อมูลของเราไปเป็นการลักทรัพย์หรือไม่??

เรื่องนี้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 5161/2547 ได้วางหลักไว้ว่า ข้อมูล ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า "ข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงสำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ" ส่วนข้อเท็จจริงหมายความว่า "ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่ตามจริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่าเท็จหรือจริง" ดังนั้น ข้อมูลจึงไม่นับเป็นวัตถุมีรูปร่าง สำหรับตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสารเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูลออกจากแผ่นบันทึกข้อมูลโดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ มิใช่รูปร่างของข้อมูล เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 137 บัญญัติว่า ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง ข้อมูลในแผ่นบันทึกข้อมูลจึงไม่ถือเป็นทรัพย์ การที่จำเลยนำแผ่นบันทึกข้อมูลเปล่าลอกข้อมูลจากแผ่นบันทึกข้อมูลของโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ซึ่งคำพิพากษานี้ได้มีหมายเหตุท้ายคำพิพากษาของท่านสอนชัย สิราริยกุล ให้ข้อสังเกตไว้ สรุปได้ว่า หากข้อมูลที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของเอกสาร แล้วจำเลยเอาเอกสารเหล่านั้นไปเสีย ก็น่าคิดว่าจะเป็นการลักทรัพย์ที่เป็นเอกสารหรือเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสาร และหากข้อมูลในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เป็นความลับทางการค้าแล้ว ก็สามารถที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้


ความเห็นของผู้เขียน 

"ข้อมูล" ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ ข้อความ  ตาราง เอกสาร รูปภาพ รูปแบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือรูปแบบใดที่สามารถสื่อความหมาย หรือนำไปประมวลผลเพื่อให้ได้ความรู้ นวัตกรรม ความได้เปรียบทางธุรกิจ ล้วนเป็นสิ่งที่มูลค่าทั้งนั้น และถือเป็นทรัพย์สินตาม 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย (ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้) อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบของบรรดานักกฎหมายว่าการตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด การที่กฎหมายอาญากำหนดให้การลักทรัพย์เป็นความผิดอาญา จึงต้องตีความคำว่าทรัพย์โดยเคร่งครัด

มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า การคัดลอกข้อมูลของเราไป ข้อมูลต้นฉบับยังอยู่ในความครอบครองและเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา การที่มีการคัดลอกข้อมูลของเราไปนั้นความเสียหายไม่ได้อยู่ที่การคัดลอก แต่อยู่ที่การนำข้อมูลนั้นไปใช้แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลมากกว่า


No comments:

Post a Comment