10/06/2015

สิทธิที่จะถูกลืมจากโลกอินเตอร์เน็ต

ทุกวันนี้เราอยากรู้เรื่องอะไรก็มักจะเข้าเว็บไซต์ถามกูเกิ้ล (Google) ผู้ให้บริการค้นหาข้อมูล (search engine) ฟรีเจ้าดัง กูเกิ้ลจะเก็บข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆไว้เป็น index และลิ้งก์ไปยังเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาที่เราต้องการค้นหานั้น เมื่อผู้ทำเว็บไซต์เผยแพร่เนื้อหาของเว็บไซต์ของตน กูเกิ้ลก็จะเก็บเนื้อหาเหล่านั้นไว้ เรื่องราวมากมายที่กูเกิ้ลเก็บไว้มีทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลทั่วไป เราอาจจะเห็นเรื่องราวของเราเองในทางที่ไม่ดีและทำให้เสื่อมเสียปรากฎอยู่บนผลลัพธ์การค้นหาของกูเกิ้ลได้ เราไม่อยากให้เว็บไซต์เผยแพร่เนื้อหาเหล่านั้นและไม่อยากให้กูเกิ้ลลิ้งก์ไปยังเว็บไซต์นั้นด้วย เราจะทำได้หรือไม่ อย่างไร

สิทธิที่จะถูกลืม


ในสหภาพยุโรปเมื่อปี ค.ศ. 2010 ชาวสเปนรายหนึ่งได้ร้องขอต่อศาลสเปนให้หนังสือพิมพ์สเปนและกูเกิ้ลลบข้อมูลส่วนตัวของเขาออกจากหนังสือพิมพ์และผลการค้นหาของกูเกิ้ลเพราะข้อมูลบนเว็บไซต์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขาอีกต่อไปแล้ว ศาลสเปนจึงนำปัญหานี้ขึ้นสู่ศาลสหภาพยุโรปพิจารณา ศาลสหภาพยุโรปพิจารณาตาม 1995 Data Protection Directive แล้วเห็นว่า
1) แม้ server ของบริษัทที่ดูแลจัดการข้อมูลจะตั้งอยู่นอกสหภาพยุโรป แต่ถ้ามีสาขาในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามกฎของสหภาพยุโรป
2) เมื่อ search engine เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล กูเกิ้ลก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของสหภาพยุโรปด้วย
3) สิทธิที่จะถูกลืม บุคคลมีสิทธิที่จะร้องขอให้ search engine ลบลิ้งก์ที่มีข้อมูลส่วนตัวของเขา เมื่อข้อมูลนั้น ไม่ถูกต้อง หรือทำให้รู้สึกต่ำต้อย หรือไม่เกี่ยวข้องกัน หรือมากเกินวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บ โดยการพิจารณาว่าจะเป็นข้อมูลประเภทใดต้องลบหรือไม่จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีๆไป อย่างไรก็ตามสิทธิที่จะถูกลืมนี้ ไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสิทธิพื้นฐานอื่นด้วย เช่นสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกและสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ซึ่งสุดท้ายแล้วศาลสหภาพยุโรปก็มีคำสั่งให้ตามที่ชาวสเปนรายนี้ร้องขอ (คำตัดสิน, เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 1, 2)

สำหรับประเทศไทยแล้ว ไทยเรายังไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการเฉพาะ ยังเป็นเพียงร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในขั้นตอนของการตรากฎหมาย มีเพียงกฎหมายแพ่งทั่วไปในลักษณะละเมิดที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ ซึ่งหากเราได้รับความเสียหายจากเนื้อหาของเว็บไซต์ใดๆแล้ว เราสามารฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าของเว็บไซต์หยุดเผยแพร่เนื้อหาและเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ถึงแม้กฎหมายไทยจะให้สิทธิเราฟ้องร้องผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือ search engine ที่มี server หรือสำนักงานตั้งอยู่นอกประเทศไทยต่อศาลไทยได้ แต่จะบังคับกับผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือ search engine ดังกล่าวได้เพียงใดคงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม กูเกิ้ลก็มีนโยบายในการลบลิ้งก์ที่เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาของเว็บไซต์ที่อ่อนไหวหรือไม่เหมาะสม โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเงินและข้อมูลเลขประจำตัวของประเทศที่มีปัญหา รวมถึงรูปโป๊เปลือยเด็ก คำหยาบคายและความรุนแรงต่างๆ ดังนั้น หากข้อมูส่วนตัวของเราเข้าข่ายตามนโยบายของกูเกิ้ลแล้ว ก็สามารถร้องขอให้กูเกิ้ลลบลิ้งก์นั้นตามขั้นตอนของกูเกิ้ลได้

และสำหรับผู้ดูแลเว็บไซต์ที่ไม่ต้องการให้ search engine เก็บ index เว็บไซต์ของตัวเอง ท่านสามารถใส่ <META NAME="ROBOTS" CONTENT="NOINDEX, NOFOLLOW"> ไว้ใน <head> ของหน้าเว็บไซต์ได้


No comments:

Post a Comment