24/05/2015

ชื่อโดเมน กับ เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ

ปัจจุบัน ระบบอินเตอร์เน็ตถูกพัฒนาไปมากและใช้กันอย่างแพร่หลาย การทำธุรกรรมซื้อขายก็ใช้ช่องทางการติดต่อทำธุรกรรมบนระบบอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น โดยเรามักเรียกกันว่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce สินค้าและบริการมากมายมีการตกลงซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เจ้าของกิจการก็จะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการติดต่อธุรกรรมกับลูกค้าของตน เมื่อมีเว็บไซต์ก็ต้องมีชื่อโดเมน (Domain Name) เพื่อใช้ในการอ้างอิงเข้าสู่เว็บไซต์นั้นๆ สินค้าหรือบริการบางชนิดมีเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ เจ้าของกิจการจึงมักจดทะเบียนชื่อโดเมนเว็บไซต์เป็นชื่อเครื่องหมายการค้าของตนเพื่อให้เป็นที่จดจำได้ง่าย

ชื่อโดเมน


ชื่อโดเมน(Domain Name)
เป็นชื่อที่ใช้ระบุที่อยู่ของคอมพิวเตอร์ โดยชื่อโดเมนจะเป็นตัวแทนของหมายเลขไอพี (IP address หรือ Internet Protocol address) และถูกจัดการโดยระบบการตั้งชื่อโดเมน (Domain Name System หรือ DNS) เรามักจะคุ้นเคยกับชื่อโดเมนที่นำมาใช้เป็นชื่อของเว็บไซต์ เช่น THELEGITAL.COM และการจะได้ชื่อโดเมนมาใช้กับเว็บไซต์ได้นั้น ต้องจดทะเบียนชื่อโดเมนกับผู้ให้บริการ โดยมีองค์กรระหว่างประเทศที่กำกับดูแลชื่อโดเมน คือ  Internet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN) ซึ่งหากเกิดข้อพิพาทที่เกี่ยวกับชื่อโดเมนขึ้น ICANN จะมีนโยบายในการระงับข้อพิพาทที่เรียกว่า Uniform Domain-Name Dispute Resolution Policy (UDRP) นำมาใช้ในการพิจารณา

เครื่องหมายการค้า(Trademark) เครื่องหมายบริการ(Service Mark)
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ให้คำนิยามของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ว่า
“เครื่องหมาย” หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
“เครื่องหมายการค้า” หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
“เครื่องหมายบริการ” หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น

จากนิยามข้างต้นจะเห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการทำหน้าที่แตกต่างออกไปจากชื่อโดเมน เพราะเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการนี้จะทำหน้าที่แสดงให้เห็นว่าสินค้า/บริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้า/บริการนั้น แตกต่างกับสินค้า/บริการที่ใช้เครื่องหมายการค้า/บริการของบุคคลอื่น แต่ชื่อโดเมนเป็นชื่อที่เป็นตัวแทนของหมายเลขไอพีซึ่งใช้ระบุที่อยู่ของคอมพิวเตอร์หรือเว็บไซต์

อย่างไรก็ตาม หากมีคนจดทะเบียนชื่อโดเมนซึ่งใช้กับเว็บไซต์เหมือนหรือคล้ายกับชื่อเครื่องหมายการค้า/บริการของเราแล้ว ก็อาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า/บริการนั้นได้ อันเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า/บริการ และทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของสินค้า/บริการตามมา

การจะหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะต้องทำให้ผู้ให้บริการจดทะเบียนชื่อโดเมนยกเลิกชื่อโดเมนนั้น หรือโอนเปลี่ยนเจ้าของชื่อโดเมน หรือเปลี่ยนผู้ให้บริการจดทะเบียนชื่อโดเมนไปเลย ทั้งนี้ การจะเป็นเช่นนั้นได้ต้องเป็นไปตามนโยบายระงับข้อพิพาท UDRP โดยข้อพิพาทที่เข้าข่ายตามนโยบายดังกล่าวต้องปรากฎว่า
1. ชื่อโดเมนเหมือนหรือทำให้เกิดความสับสนกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่เรามีสิทธิอยู่ และ
2. เจ้าของชื่อโดเมนไม่มีส่วนได้ส่วนเสียตามกฎหมายในชื่อโดเมนนั้น และ
3. ชื่อโดเมนถูกนำมาใช้โดยมีเจตนามิชอบ (Bad Faith)

อย่างไรถึงเป็นการนำชื่อโดเมนมาใช้โดยมีเจตนามิชอบ (Bad Faith)
1. มีพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นได้ว่าการจดทะเบียนชื่อโดเมนนั้นเป็นไปเพื่อหวังกำไรจากการขายต่อ โอน หรือให้เช่าแก่เราหรือคู่แข่งของเรา หรือวิธีการอื่นใดที่ทำให้เราต้องเสียทรัพย์มากเกินควรสำหรับชื่อโดเมนนั้น หรือ
2. การจดทะเบียนชื่อโดเมนเป็นไปเพื่อกีดกันเราซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการไม่ให้สามารถจดชื่อโดเมนนั้นได้ หรือ
3. การจดทะเบียนชื่อโดเมนเป็นไปเพื่อหวังทำลายหรือสร้างความวุ่นวายให้กับธุรกิจของคู่แข่ง หรือ
4. การจดทะเบียนชื่อโดเมนเป็นไปเพื่อสร้างความสับสน แสวงประโยชน์ทางการค้า จากการเปิดเว็บไซต์โดยหวังค่าโฆษณา หรือขายสินค้า ฯลฯ



ผู้เสียหายจะต้องร้องเรียนไปยังศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ ICANN กำหนด โดยอาจเขียนเป็นคำร้อง หรือส่งคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล หรือคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่นำนโยบายระงับข้อพิพาท UDRP นี้ไปใช้ในการพิจารณา จัดส่งไปยังศูนย์ดังกล่าว

แต่หากเจ้าของชื่อโดเมนแสดงให้เห็นดัง 3 ข้อด้านล่างนี้ เจ้าของชื่อโดเมนก็อาจจะไม่ถูกยกเลิกชื่อโดเมนหรือโอนเปลี่ยนเจ้าของชื่อโดเมน
1. ก่อนเกิดการพิพาทนี้ เจ้าของชื่อโดเมนได้ใช้หรือแสดงให้ห็นว่าต้องการใช้ชื่อโดเมนด้วยเจตนาบริสุทธิ์แท้จริงในการขายสินค้าหรือบริการของตน หรือ
2. ชื่อเจ้าของชื่อโดเมน หรือชื่อธุรกิจหรือชื่อองค์กรของเจ้าของชื่อโดเมน เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปจากชื่อโดเมนนั้น แม้จะไม่ได้สิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการก็ตาม หรือ
3.เจ้าของชื่อโดเมนแสดงให้เห็นว่าไม่ได้นำชื่อโดเมนมาแสวงประโยชน์จากความเข้าใจผิด สับสน หรือทำให้เครื่องหมายการค้าหรือบริการเสื่อมคุณค่าลงไป

สำหรับประเทศไทย มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้แก่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5113/2548 
โจทก์ใช้ชื่อว่า "อินเทล คอร์ปอเรชั่น" หรือ "Intel Corporation" จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2511 คำว่า อินเทล และ Intel มีชื่อเสียงแพร่หลาย โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อหรือนามของโจทก์ในประเทศไทย จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อว่า บริษัทอินเทลการ์ด อินดัสทรีส์ จำกัด เมื่อปี 2538 ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิด คิดว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย พิพากษาให้จำเลยเลิกใช้ชื่อนิติบุคคล ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ คำว่า อินเทล และ Intel ของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคล ชื่อโดเมน เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของจำเลยอีกต่อไป และให้จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคล ดวงตราประทับและชื่อโดเมน ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย


มีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและเทคโนโลยี ปรึกษา ทนายไอที สิครับ



No comments:

Post a Comment