07/02/2017

การระงับการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์

ทุกวันนี้แผงขายเทปผีซีดีเถื่อนตามตลาดนัดต้องเงียบเหงาไป เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทกับการละเมิดลิขสิทธิ์มากยิ่งขึ้น หากเราค้นหาคำว่า "ดูหนังออนไลน์" บน Google เราจะพบผลการค้นหาที่เป็นเว็บไซต์ให้บริการดูหนังหรือภาพยนต์ฟรีมากมาย เรียกได้ว่าได้ดูหนังชนโรงกันเลยทีเดียว เมื่อลองไปค้นหาที่ตั้งเซิฟเวอร์หรือชื่อผู้จดโดเมนของเว็บไซต์เหล่านั้น ก็ปรากฎว่าตั้งอยู่ที่ต่างประเทศและมีการปกปิดข้อมูลของผู้จดโดเมนอีกต่างหาก ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้สร้างความชอกช้ำความเสียหายให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์หรือผู้ได้รับโอนลิขสิทธิ์เป็นอย่างมาก แล้วกฎหมายจะช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง ??

Image by A.Spielhoff

ตามมาตรา 32/3 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่ถูกแก้ไขปรับปรุงจนถึงปัจจุบัน ได้กำหนดให้ เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถร้องขอต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือนำงานที่อ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการได้

ผู้ให้บริการคือใคร

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 กำหนดความหมาย "ผู้ให้บริการ" ดังนี้
        (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเองหรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
        ซึ่งก็คือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ Internet Service Provider (ISP)  นั่นเอง
        (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
        ซึ่งก็คือผู้ให้บริการเช่าพื้นที่โฮสต์หรือเซิฟเวอร์ต่างๆ นั่นเอง

เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องทำอย่างไร

เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยคำร้องต้องมีรายละเอียดดังนี้      
        (1) ชื่อและที่อยู่ของผู้ให้บริการ
        (2) งานอันมีลิขสิทธิ์ที่อ้างว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์
        (3) งานที่อ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์
        (4) กระบวนการสืบทราบ วันและเวลาที่พบการกระทำ และการกระทำหรือพฤติการณ์ ตลอดทั้งหลักฐานเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์
        (5) ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
        (6) คำขอบังคับให้ผู้ให้บริการนำงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ หรือระงับการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยวิธีอื่นใด
        ในส่วนของคำขอบังคับนี้ ผู้เขียนเห็นว่า หากที่ตั้งของเซิฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ อาจขอได้เพียงระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์
        ทั้งนี้ เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ภายในระยะเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือนำงานที่อ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ด้วย

ศาลจะดำเนินการอย่างไร

ศาลจะต้องทำการไต่สวนก่อน แล้วจึงมีคำสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือนำงานที่อ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้ทำให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นใช้ไม่ได้หรือจะสั่งทำลายสิ่งนั้นก็ได้

ผู้ให้บริการต้องทำอย่างไร

ผู้ให้บริการต้องทำตามคำสั่งของศาล โดยคำสั่งศาลมีผลบังคับผู้ให้บริการทันที หากผู้ให้บริการได้ดำเนินการตามคำสั่งศาล และผู้ให้บริการไม่ใช่ผู้ควบคุม ริเริ่ม หรือสั่งการให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ของตนเองแล้ว ผู้ให้บริการก็ไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งและหลังจากคำสั่งศาลเป็นอันสิ้นผลแล้ว รวมถึงไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามคำสั่งศาลอีกด้วย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
        มาตรา 32/3  ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ เจ้าของลิขสิทธิ์อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น
        เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ให้บริการ หมายความว่า
        (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเองหรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
        (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
        คำร้องตามวรรคหนึ่ง ต้องมีรายละเอียดโดยชัดแจ้งซึ่งข้อมูล หลักฐาน และคำขอบังคับ ดังต่อไปนี้
        (1) ชื่อและที่อยู่ของผู้ให้บริการ
        (2) งานอันมีลิขสิทธิ์ที่อ้างว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์
        (3) งานที่อ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์
        (4) กระบวนการสืบทราบ วันและเวลาที่พบการกระทำ และการกระทำหรือพฤติการณ์ ตลอดทั้งหลักฐานเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์
        (5) ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
        (6) คำขอบังคับให้ผู้ให้บริการนำงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ หรือระงับการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยวิธีอื่นใด
        เมื่อศาลได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลทำการไต่สวน หากศาลเห็นว่าคำร้องมีรายละเอียดครบถ้วนตามวรรคสาม และมีเหตุจำเป็นที่ศาลสมควรจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือนำงานที่อ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด โดยคำสั่งศาลให้บังคับผู้ให้บริการได้ทันที แล้วแจ้งคำสั่งนั้นให้ผู้ให้บริการทราบโดยไม่ชักช้า  ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าของลิขสิทธิ์ดำเนินคดีต่อผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ภายในระยะเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือนำงานที่อ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์
        ในกรณีที่ผู้ให้บริการมิใช่ผู้ควบคุม ริเริ่ม หรือสั่งการให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ และผู้ให้บริการนั้นได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลตามวรรคสี่แล้ว ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งและหลังจากคำสั่งศาลเป็นอันสิ้นผลแล้ว
        ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามคำสั่งศาลตามวรรคสี่

        มาตรา 75  บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง และสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้น หรือในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ทำให้สิ่งนั้นใช้ไม่ได้หรือจะสั่งทำลายสิ่งนั้นก็ได้ โดยให้ผู้กระทำละเมิดเสียค่าใช้จ่ายในการนั้น


No comments:

Post a Comment