23/11/2015

กด Like บน Facebook ถือเป็นการแสดงออกด้วยการพูด

ด้วย Facebook เป็นสื่อสังคมออนไลน์ หรือ social media ที่ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานกว่า 1,500 ล้านคนทั่วโลก ทำให้เกิดเป็นสังคมเสมือนขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์ ผู้ใช้งานสามารถแสดงออกด้วยการโพสต์ข้อความ โพสต์รูปภาพ หรือวีดีโอ รวมถึง แบ่งปัน (share) ถูกใจ (like) แสดงความเห็น (comment) สิ่งต่างให้เพื่อนๆ ได้เห็นได้รับรู้ ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ขึ้นระหว่างมนุษย์ แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าลูกจ้างของนักการเมืองต้องถูกเลิกจ้างเพราะไปกด like บน Facebook page ของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม จนเกิดเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาลกัน

กด like
Image by : Enoc vt

เกิดคดีขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในสำนักงานนายอำเภอเมืองหนึ่ง ถูกเลิกจ้างเพราะไปกด like บน Facebook page ของนายอำเภอฝ่ายตรงข้าม ซึ่งขณะนั้นจะมีการเลือกตั้งนายอำเภอคนใหม่ โจทก์อ้างว่าตนได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในสิทธิเสรีภาพในการพูด (First Amendment to the United States Constitution : "freedom of speech")  โจทก์จึงฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล

ศาลชั้นต้นตัดสินให้โจทก์แพ้คดีนี้ โดยศาลชั้นต้นพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการกด like บน Facebook ว่า การกด like ไม่ถือเป็นการพูด โจทก์ไม่พอใจคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป ศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินให้โจทก์แพ้ในคดีนี้เช่นกันเพราะจำเลยได้รับความคุ้มครองตามเหตุผลทางการเมือง แต่ในประเด็นการกด like บน Facebook  ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า การกด like ถือเป็นการแสดงออกด้วยการพูดอย่างหนึ่งและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา (คำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์)

ผู้เขียนเห็นว่า การกด like บน Facebook ถือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงถึงความชอบหรือความสนใจก็ได้ และการกด like ทำให้เจ้าของโพสต์นั้นได้รับรู้ถึงการแสดงออกของเราต่อโพสต์นั้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนยังไม่เคยเห็นคำพิพากษาของศาลไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับการกด like เหมือนดังเช่นคำพิพากษาของศาลสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ การแสดงออกบนสื่อสังคมออนไลน์ควรกระทำด้วยความระมัดระวัง คิดไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนจะกระทำการใดๆ บนสื่อดังกล่าว เพราะเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขในสิ่งที่เราทำผิดพลาดได้



No comments:

Post a Comment